วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ความหมายของมารยาท

ความหมายของมารยาทมารยาท เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกทางกาย วาจา ที่สะท้อนออกมาจากจิตใจ เป็นข้อปฏิบัติของบุคคลที่แสดงต่อผู้อื่นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข จึงมีผู้ให้ความหมายของมารยาทไว้ดังนี้ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ( 2514 : 1 ) ได้ให้ความหมายมารยาทไว้ว่า “มารยาท คือ กิริยา วาจา ที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อย อันประกอบด้วยการเสียสละ ความพอใจส่วนตัว เพื่อทำความพอใจให้ ผู้อื่น” ชาติไทยได้ชื่อว่าเป็นชาติที่มีมารยาทงดงามที่สุดในโลก ( ฟื้น ดอกบัว 2542 : 83 ) ทั้งนี้เพราะบรรพบุรุษของไทยได้วางแบบอย่างมารยาทไว้เหมาะสม แบบอย่างมรรยาทของชาติไทยเป็นหลักการที่ไม่ล้าสมัย จึงปฏิบัติได้ทุกโอกาส ทุกสมัย และทุกสถานที่ นำไปปฏิบัติในสังคมของชาติอื่นได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมแคล้ว เจริญวงศ์ ( 2524 : 1 ) กล่าวถึงคำว่า “มารยาท” หมายถึง กิริยาอาการที่แสดงออกอันเป็นการเสียสละเพื่อทำความพอใจให้แก่คนอื่น เช่น เสียสละที่นั่งในรถหรือในเรือให้แก่เด็กหรือคนชรา เมื่อผู้ใหญ่เดินมาก็หลีกให้ทางเดินแก่ผู้ใหญ่ ช่วยเหลือเด็ก คนชรา คนพิการ หรือคนทุพพลภาพที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นต้นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 ( 2531 : 215 ) ให้ความหมายของ คำว่า “มารยาท” ไว้ เช่น ในความหมายของคำว่า “จรรยา” คือ ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติในหมู่คณะ เช่น จรรยาแพทย์ จรรยาครู นิยมใช้ในทางดีเช่น ถ้าไม่มีจรรยา หมายความว่า ไม่มีความประพฤติที่ดี ส่วนคำว่า “กริยา” (กริ-ยา) คือ คำที่แสดงอาการของนามหรือสรรพนามสมชัย ใจดีและยรรยง ศรีวิริยาภรณ์ ( 2531 : 7 ) กล่าวถึงมารยาทว่า มารยาทเป็นส่วนหนึ่งของสหธรรมซึ่งเป็นวัฒนธรรมทางสังคมที่ใช้ในการติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่น เป็นคุณธรรมที่ควรปฏิบัติสุทธิ ภิบาลแทน ( 2539 : คำนิยม ) กล่าวว่า มารยาทเป็นองค์ประกอบย่อยของวัฒนธรรมชาติไทยมีเอกลักษณ์ประจำชาติและมีองค์ประกอบหลายอย่างที่สามารถจำแนกได้ว่าเป็นคนไทย เป็นชาติไทย เช่น ภาษา พิธีกรรมบางอย่างและการแต่งกาย เป็นต้น คนไทยมีมารยาทซึ่งสั่งสมมาหลายสมัย สมควรถ่ายทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของสังคมต่อไปพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร ( 2530 : 1 ) ได้กล่าวถึง มารยาทไทยว่า ความมีมารยาทหมายถึง การมีกิริยา วาจา ใจ สุภาพเรียบร้อย สังคมไทยได้กำหนดแบบอย่างของมารยาทไว้หลายชนิดทั้งมารยาทในอิริยาบถต่างๆ การยืน เดิน นั่ง การแสดงความเคารพฯลฯ ล้วนแต่เหมาะสมและอาจดัดแปลงแก้ไขให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและกาลสมัย กิริยามารยาทของไทยในแต่ละท่า แต่ละแบบล้วนไม่ขัดกับการใช้อวัยวะประกอบท่าทาง จึงเป็น ท่าทางที่งดงามและถูกต้องตามลักษณะของกายวิภาคทั้งสิ้น กุลบุตรกุลธิดาไม่ว่าชาติใด ถ้า ได้รับการศึกษาและอบรมมาดีแล้วทั้งกาย วาจา ใจย่อมได้ชื่อว่าเป็นสุภาพชน สุภาพชนจะ รู้จักเหนี่ยวรั้งใจตนเอง มีความละอายใจตนเอง ไม่ยอมประพฤติการที่ไม่เหมาะสมและสำนึกในเรื่องกิริยามารยาทของตนเองอยู่เสมอผะอบ โปษะกฤษณะ ( 2530 : 2 ) ได้กล่าวถึงมารยาทไว้ว่า มารยาท หมายถึง ความประพฤติเรียบร้อย ซึ่งมุ่งไปถึงกิริยาท่าทาง แต่ความจริงมีความหมายกว้างออกไปถึงการแสดงออกทุกอย่างของมนุษย์เรา เช่น กิริยาท่าทาง สีหน้า คำพูด การแต่งกายสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ( 2539 : 1 ) กล่าวว่า มารยาทหรือมรรยาทมีที่ใช้ในภาษาไทยได้ทั้ง 2 คำ หมายถึงกิริยาอาการที่ควรประพฤติปฏิบัติอย่างมีขอบเขตหรือมีระเบียบแบบแผนอันเหมาะสมแก่กาลเทศะและสังคม ได้แก่ การยืน เดิน นั่ง นอน การแสดงความเคารพ การรับของและการส่งของส่วนมารยาทไทยเป็นการเจาะจงชี้แจงให้ทราบถึงขอบเขตหรือระเบียบแบบแผนแห่งการประพฤติปฏิบัติแบบไทยที่บรรพบุรุษได้พิจารณากำหนดขึ้นและดัดเปลงแก้ไขให้ สืบทอดกันมาทิพวรรณ หอมพลู ( 2538 : 4 ) กล่าวถึงมารยาท หมายถึง กิริยาและวาจาสุภาพ เรียบร้อย เพราะกิริยาและวาจานอกจากจะเป็นการแสดงออกของนิสัยใจคอแล้ว ยังแสดงถึงการมีวัฒนธรรมนั้นด้วย เช่น - ความสุภาพในกิริยา คือ การวางตัวดี หมายถึง การทำงานให้เหมาะสมกับเวลา สถานที่ และบุคคลที่เราสมาคมด้วย พร้อมทั้งกิริยา ท่าทางที่ละมุมละม่อมอ่อนโยนให้เหมาะสมกับบุคคล เช่น เมื่อพบผู้ใหญ่ ก็ทำความเคารพ - ความสุภาพในวาจา คือ พูดด้วยวาจาอ่อนหวาน สุภาพเรียบร้อย และพูดแต่สิ่งที่น่าฟังเท่านั้น และรู้จักใช้คำพูดให้เหมาะสมแก่กาลเทศะทิพวรรณ หอมพูล ( 2538 : 15 ) ยังได้กล่าวถึงมารยาทไทย คือ การแสดงอิริยาบถต่างๆที่มีความสุภาพ อ่อนน้อม ละเมียดละไม ทั้งกิริยา วาจาที่สุภาพเรียบร้อย รวมทั้งการแต่งกายที่มีระเบียบเหมาะสมกับกาลเทศะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงออกถึงความเป็น เอกลักษณ์ไทยสมจินตนา ภักดิ์ศรีวงศ์ ( 2538 : 27 ) กล่าวว่า มารยาทไทย หมายถึง กิริยาวาจาที่คนไทยเห็นว่าเรียบร้อย ถูกลักษณะนิสัยของคนไทยที่เป็นคนอ่อนโยน มีความสงบเสงี่ยมทั้งกายวาจา เป็นการควบคุมกายวาจา ให้อยู่ในกรอบที่สังคมยอมรับและต้องการ ดังคำกล่าวของชาวไทยแต่โบราณที่ว่า “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” ซึ่งเป็นสิ่งที่บอกความหมายของมารยาทได้เป็นอย่างดีสมทรง ปุญญฤทธิ์ ( 2539 : 10 – 11 ) คำว่า มารยาท มาจากภาษาสันสกฤตว่า “มารยาท” ภาษาบาลีว่า “มริยาท” ซึ่งหมายถึง คันนา โดยมีความหมายตามรากศัพท์เดิมว่า… นาดีต้องมีคัน ถือแนวดินที่ยกสูงขึ้นสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ หรือระบายน้ำออกไปได้ตามความต้องการฉันใด กิริยาอาการของคนเราก็ฉันนั้น ถ้ามีขอบเขตหรือระเบียบแบบแผนที่เหมาะสมแก่กาลเทศะและสังคมแล้ว ย่อมแสดงว่าผู้นั้นเป็นผู้มีมารยาทหรือวัฒนธรรมอันดีงาม ส่วนมารยาทไทยเป็นการเจาะจงชี้แจงให้ทราบถึงขอบเขตหรือระเบียบแบบแผนแห่งการประพฤติปฏิบัติแบบไทยที่บรรพบุรุษของเราได้พิจารณากำหนดขึ้นให้เหมาะสมแก่กาลเทศะและสังคม เป็นความงดงาม ความอ่อนโยนละมุนละไม เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยที่ควรรักษาไว้ตลอดไปจากความหมายดังกล่าวสรุปได้ว่า มารยาท เป็นระเบียบแบบแผนการประพฤติที่ดีงามอันแสดงถึงพฤติกรรมที่สุภาพเรียบร้อย ละมุนละไมทั้งทางกาย วาจาโดยมีใจเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมให้แสดงออกได้อย่างเหมาะสม เป็นองค์ประกอบย่อยของวัฒนธรรมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติที่สมควรจะถ่ายทอดสืบต่อไป มารยาทไทยเป็นกิริยามารยาทที่ คนไทยได้สร้างสรรค์ให้เหมาะกับลักษณะนิสัยของคนไทยและสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ดังนั้น กิริยามารยาทในแต่ละท่าแต่ละแบบต่างๆงดงามและถูกต้องตามหลักของกายวิภาคและมีความทันสมัยอยู่ตลอดกาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น