วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

โขนของไทย



โขนเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย ที่รวมเอาศิลปะหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน โขนเป็นนาฏศิลป์ที่ผู้แสดงต้องสวมหน้ากากที่เรียกว่า “หัวโขน” และเต้นประกอบจังหวะ ร่ายรำหรือตีบทให้เข้ากับคำร้อง บทพากย์และบทเจรจา จึงอาจกล่าวได้ว่า “โขนเป็นที่รวมของศิลป” (ธนิต อยู่โพธิ์ 2508 : 20) ซึ่งจะขอยกตัวอย่างให้เห็นว่า ศิลปะต่างๆ ได้ร่วมไว้ในการแสดงโขนได้อย่างกลมกลืน คือ



1. การแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์ คนไทยได้รับแบบแผนมาจากขอมตั้งแต่สมัย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์เป็นการเล่นตามเรื่องโบราณ ของอินเดีย ซึ่งมีต้นกำเนิดหรือมูลเหตุมาจากตำนาน การกวนน้ำอมฤต โดยผู้เล่นจะแต่งกายเป็นพวกเทวดา ยักษ์และลิง เนื่องจากเป็นการเล่นในพระราชพิธี ดังนั้น ผู้เล่นจึงต้องแสดงท่าทางการชักนาคและอื่น ๆ ตามแบบการแสดงละครมากกว่าจะออกท่าโลดเต้นอย่าง อิสระ “การชักนาคดึกดำบรรพ์" เคยมีอยู่ครั้งเดียวเพื่อกวนน้ำอมฤตและกระทำที่เกษียรสมุทรโดย พระนารายณ์ได้ยก เอาเขาพระสุเมรุมาปักลงกลางเกษียรสมุทรเอานาคพันเข้าโดยรอบ แล้วให้เทวดาชักทาง ด้านหางของนาคและให้พวกยักษ์ชักทางด้านหัวนาค การชักนาคกันคนละทีนี้ ทำให้เขาพระสุเมรุหมุนไปหมุนมาอยู่กลางเกษียรสมุทร ทำให้เกิดแรงเหวี่ยงขึ้นเหมือนกับการทำเนย เพราะเกษียรสมุทรก็คือ ทะเลน้ำนมในคติของศาสนาฮินดู ดังนั้น ความหมายของคำว่า “ดึกดำบรรพ์” ก็น่าจะแปลว่า “กวนน้ำ” … เมื่อดูจากภาษาเขมร คำว่า “ดึก” น่าจะมาจาก คำว่า “ตึก” ที่แปลว่า น้ำ และคำว่า “ดำบรรพ์” หากฟังแต่เสียงน่าจะมาจากภาษาเขมรว่า “ตะบัล” แปลว่า ตำหรือกวน การชักนาคที่พันอยู่รอบเขาพระสุเมรุนั้น จะต้องทำให้เขาพระสุเมรุขึ้น ๆ ลง ๆ ซึ่งตรงกับอาการตำหรืออาการ ตะบัน ดังนั้น ดึกดำบรรพ์ ก็แปลว่า การตะบันน้ำนั่นเองและการตะบันน้ำนมในเกษียรสมุทรนั้นทำให้เกิด น้ำอมฤตขึ้น ในที่สุด” การแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์ ต้องเป็นการแสดงที่ใหญ่โตใช้คนแสดงจำนวนมาก ซึ่งต้องมี ค่าใช้จ่ายมาก จึงไม่ค่อยมีแสดงบ่อยนัก อาจแสดงได้เพียงรัชกาลละครั้งตอนต้นรัชกาล และไม่นานนักก็สูญหาย ไปคงเหลือแต่ การแสดงรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นเรื่องนารายณ์อวตารอีกปางหนึ่งที่รู้กันในปัจจุบันว่า “โขน” ครั้งแรก ก็เป็นได้ (คึกฤทธิ์ ปราโมช . 2541 : 42) สิ่งที่โขนได้รับแบบอย่างมากจากชักนาคดึกดำบรรพ์ คือโขนได้นำเอา การแต่งกายของตัวละคร มาใช้ในการแต่งกายของการแสดงโขน (กลับไปด้านบน)
2. กถกฬิ (กะ-ถะ-กะ-ลิ) เป็นละครพื้นเมืองของอินเดียทางใต้ของคาบสมุทรเดกข่าน แสดงในรัฐเกระล่า (Kerala)และแถบฝั่งมลบาร์ (Malabar) เริ่มแรก กถกฬิที่แสดงเรื่องเกี่ยวกับพระกฤษณะต่อมานำเค้าโครงเรื่องของพระรามมาแต่งเป็นโศลก และในระยะหลังๆ ก็นำเรื่องในคัมภีร์ปุราณะต่างมาแสดงด้วย “กถ” (กะ-ถะ) เป็นคำในภาษาสันสกฤต แปลว่า นิยาย “กฬิ” (กะ-ลิ) เป็นคำในภาษามาลยลั่ม (Malayalam) แปลว่าการเล่น แรกเริ่มกถกฬิแสดงได้แต่ในเทวสถานหรือในราชสำนัก เท่านั้น ต่อมาได้รับอนุญาตให้เล่นนอกเทวสถานได้ เพื่อที่จะให้คนชั้นต่ำได้มีโอกาสชมการแสดงได้ ในการเล่นกถกฬิแต่เดิมผู้แสดงต้องสวมหน้ากาก และในระยะหลัง จึงเลิก และใช้วิธีตามแต่งใบหน้าซึ่งเป็นศิลปะที่หวงแหนปกปิดกันมาก มีพิธีรีตองและใช้เวลาในการแต่งหน้านานมากกว่า 10 ชั่วโมง หน้ากากเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่ แสดงว่า กถกฬิคงจะเป็นต้นเค้าของนาฏกรรมชาติต่างๆ ในแถบภูมิภาคเอเชีย เช่นละครโนะของญี่ปุ่น โขนของไทย และละครของอินโดนีเซีย เพราะการละเล่นของทั้ง สามชนิดนี้ ต้องสวมหน้ากากทั้งสิ้น โดยเฉพาะโขนของไทยเชื่อว่าคงได้รับอิทธิพลจากกถกฬิ เพราะนอกจากหน้ากากแล้ว ยังใช้ตัวละครที่เป็นผู้ชายเหมือนกันและเรื่อง ที่เล่นเหมือนกัน (นิยะดา สาริกภูติ. 2515 : 31 – 37)

การแสดงโขนน่าจะได้รับอิทธิพลจากละครกถกฬิในด้านวิธีการแสดง นั่นคือผู้แสดงจะ ต้องสวมหน้ากากมีผู้พากย์และผู้เจรจาแทนผู้แสดง ผู้แสดงเป็นผู้ชาย และนอก จากนี้ ธรรมเนียมในการแสดงที่คล้ายคลึงกันคือจะไม่แสดงในเคหสถานคนสามัญธรรมดา (กลับไปด้านบน)


3. กระบี่กระบอง ในสมัยโบราณมีการละเล่นที่เรียกว่า “สรรพยุทธ และสรรพคิลา” ซึ่งมีความหมายดังนี้ “สรรพยุทธ” อาจหมายถึงการต่อสู้ด้วยอาวุธ หรือที่เรียกกัน ว่า “กระบี่กระบอง” “สรรพคิลา” อาจหมายถึง การกีฬาที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ เช่น “ฬ่อช้าง รันแทะวัวชน กระบือชน ชุมพาชน ช้างชน คนชน ปรบไก่ คลีชง โคน ปล้ำมวย ตีดั้ง ฟันแย้ง เชียงแวง เล่นกล คลีม้า เป็นต้น … การละเล่นที่เกี่ยวกับการต่อสู้ หรือกีฬาเหล่านี้ล้วนเป็นพฤติกรรมธรรมดาของผู้คนทุกเผ่าพันธ์ที่ต่างก็มีวิถีชีวิต และมีพัฒนาการอยู่ใน ท้องถิ่น และในสภาพแวดล้อมเป็นของตัวเองมาแต่ครั้งดั้งเดิมดึกดำบรรพ์เหมือนกัน ทุกชาติทุกภาษา จึงมักเรียกชื่อการละเล่นเหล่านี้อย่างรวมๆ ว่า “รำอาวุธ” แต่ในเอกสารเก่าเรียก “รำเต้น” โดยมีความหมายตรงกับภาษาอังกฤษว่า War Dance หรือ “วีรชัย” ที่สมัยหลังเรียก “กระบี่กระบอง” (สุจิตต์ วงษ์เทศ : 2532 : 184 – 185 ; อ้างอิงมาจาก มร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช : 2526 ธนิต อยู่โพธิ์ 2526) กระบี่กระบองเป็นวิชาการต่อสู้ของไทยมาแต่โบราณ เพื่อต้องการฝึกฝนให้เป็นกำลัง ให้แก่ชาติบ้านเมือง แล้วนำมาดัดแปลงมาเล่นประลองฝีมือกันเพื่อความสนุกสนาน ในยามว่างจากการศึก ท่วงท่าของการเคลื่อนไหวของการเล่นกระบี่กระบอง ศิลปะของ เพลงได้นำมาใช้ใน การแสดงโขน เช่น การตรวจพล ยกทัพ ต่อสู้ เป็นต้น (กลับไปด้านบน)
4. หนังใหญ่ เป็นการแสดงที่ใช้แผ่นหนังสัตว์แกะสลัก และเชิดให้ผู้ชมดูภาพหนังที่ทาบบนจอพร้อมทั้ง ฟังเสียงพากย์ เจรจา และดนตรีประกอบ หนังใหญ่เป็นมหรสพที่เล่นกันมาเป็นเวลานานแล้ว เดิมเรียกว่า “หนัง” ต่อมาเมื่อมีการแสดงที่คล้ายกันชั้น จึงเกิดคำเรียกการแสดงหนังแบบดั้งเดิมว่า “หนังใหญ่” และหนัง ที่เกิดขึ้นใหม่ว่า “หนังตะลุง” (สุวรรณี อุดมผล. มปป. : 33)

ในการแสดงหนังใหญ่บุคคลที่มีความสำคัญได้แก่ผู้เชิด และคนพากย์ – เจรจา คนเชิดจะต้องจับตัวหนังชูขึ้น แล้วเต้นตามจังหวะเพลงและคำพากย์ – เจรจา เพื่อให้ตัวหนังซึ่งเป็นภาพนิ่งดูมีชีวิตชีวา นอกจากนี้ผู้พากย์ - เจรจา และผู้เล่นดนตรีเป็นบุคคลสำคัญที่จะทำให้ผู้ชมเข้าใจเรื่องราว ซึ่งผู้พากย์ – เจรจา ต้องรู้จักเพลงหน้า พาทย์เพื่อจะได้บอกให้นักดนตรีบรรเลงเพลงประกอบได้เหมาะกับเรื่อง เรื่องที่ใช้แสดงหนังใหญ่ส่วนใหญ่ จะเป็นเรื่องรามเกียรติ์ หรือบางทีก็เล่นเรื่อง สมุทรโฆษคำฉันท์ และอนิรุธคำฉันท์

โขนได้นำเอาศิลปะลีลาการเต้น คำพากย์ – เจรจา และเรื่องที่ใช้แสดง ตลอดจนดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง มาจากการแสดงหนังใหญ่


ดังนั้น จะเห็นได้ว่า กำเนิดของโขน หรือที่มาของโขนนั้นมาจากากรแสดงหลายประเภท ซึ่งเป็นทั้งการแสดงของไทย และของวัฒนธรรมอินเดีย ซึ่งหลอมเป็นนาฏกรรม ที่ยิ่งใหญ่ และอลังการประเภทหนึ่งของไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น